Share:
ช่างไฟฟ้าแลผู้ที่จ้างช่างไฟฟ้าควรรู้ ครับ
(ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศ 26 ตุลาคม 59)ข้อมูลนี้ได้มาจากการแชร์ในโซเชียลช่างไฟฟ้าแลผู้ที่จ้างช่างไฟฟ้าควรรู้ ครับ ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสาขาอาชีพ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ โดยกำหนดให้ สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ
ซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว กำหนดให้มีผลใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนด 365 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
ทั้งนี้หากช่างไฟฟ้าฝ่าฝืนไม่มีบัตรประจำตัว จะมีความผิด ปรับไม่เกิน 5,000 บาท นายจ้างที่จ้างแรงงานที่ไม่มีบัตรประจำตัวช่างไฟฟ้า มีความผิดปรับไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งกฏหมายฉบับนี้ดังกล่าว ควบคุมผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าทุกคน (ยกเว้นผู้ที่จบวิศวะฯ และมีใบ กว. ช่างไฟฟ้ากำลัง) นักศึกษาที่จบ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ช่างไฟฟ้า จะมีแค่คุณวุฒิทางการศึกษา รับรองว่าจบการศึกษาระดับนั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้มีเอกสารหลักฐานที่ยืนยันว่าบุคคลนั้นๆ สามารถปฏิบัติหน้าที่ช่างไฟฟ้าได้ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงได้ออกมากฎหมายมาบังคับใช้ดังกล่าวสำหรับการประกาศอาชีพช่างไฟฟ้าเป็นสาขาอาชีพควบคุม ต้องปฏิบัติโดยช่างที่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ โดยมีขั้นตอนมีดังนี้1 ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร
ถ้ายังไม่ผ่านการสอบ ให้ติดต่อขอสอบได้ที่ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด หรือสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค
2 ประเมินจากคุณวุฒิทางการศึกษา/ประสบการณ์การทำงาน/การอบรมสัมมนา
3 ประเมินจากการสอบสัมภาษณ์
เกณฑ์การประเมิน ต้องได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่า 85 คะแนนถึงจะได้หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ คะแนนได้มาจาก1 ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร จะได้คะแนนทันที 50 คะแนน
2 คุณวุฒิทางการศึกษา/ประสบการณ์การทำงาน/การอบรมสัมมนา มีคะแนนประเมินรวมกันไม่เกิน 25 คะแนน
3 การสัมภาษณ์ มีคะแนนประเมินไม่เกิน 25 คะแนน
โดยหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ มีอายุ 3 ปี (เสียค่าธรรมเนียมในการประเมิน 1,000 บาท) ดังใบอนุญาตที่ผมผ่านการทดสอบแล้วครับ
ขอบคุณ ข้อมูลอ้างอิง จากเว็บ นสพ.ไทยรัฐ
http://www.thairath.co.th/content/578171
โบราณว่าไว้...“โจรขึ้นบ้านสิบ ครั้ง ไม่เท่ากับไฟไหม้บ้านครั้งเดียว” เพราะทุกอย่างวอดวายไปกับกองเพลิงทั้งหมด
สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้กว่าร้อยละ 80 เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และต้นเหตุของไฟฟ้าลัดวงจรส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟเสื่อมสภาพ เนื่องจากมีอายุการใช้งานยาวนาน
แต่ต้นเหตุสำคัญที่หลายคนมักมองข้าม นั่นคือ...การเดินสายไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง
บ้านพักอาศัยที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด คอนโด อพาร์ตเมนต์ รวมไปถึงคฤหาสน์ร้อยล้าน...พันล้าน ล้วนต้องมีการเดินสายไฟ ทว่า...ช่างไฟฟ้าที่มารับจ้างเดินสายไฟจะเป็น “กูรู” หรือเป็นเพียงช่างประเภทครูพักลักจำ ไม่มีใครบอกได้
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 เป็นอีกหนึ่งความพยายามของภาครัฐที่จะปิดช่องโหว่ กำจัดจุดอ่อนปัญหาช่างไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป “ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร”...ต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ หรือ ไลเซนส์ (License)
หากฝ่าฝืนทำงานโดยไม่มีหนังสือรับรอง มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนนายจ้างที่ฝ่าฝืนว่าจ้างช่างไฟฟ้าภายในอาคารที่ไม่มีหนังสือรับรองเข้าทำงาน จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาทด้วยเช่นกัน
“รัฐจำเป็นต้องลดความสูญเสียด้วยการเข้าควบคุมสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพหรือแรงงานสาขานั้นๆ ต้องเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 และมีใบรับรองความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพเสียก่อน...”
กรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) บอกอีกว่า สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารเป็นอาชีพแรกนำร่อง จากนั้นกรมฯจะพิจารณาสาขาอื่นเพิ่มเติม อาทิ สาขาช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร สาขา ช่างโลจิสติกส์ สาขาช่างเชื่อม ฯลฯ จนครบทุกองค์ประกอบวิชาชีพช่างที่มีอยู่ในประเทศไทย
กรณี “ช่างไฟฟ้า” ภายในอาคารที่ประสงค์จะขอรับหนังสือรับรองความรู้ ความสามารถ จะต้องเข้ารับการทดสอบ เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินเพื่อรับสมุดไลเซนส์ประจำตัว
รายละเอียดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการทดสอบ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์นับถึงวันสมัครเข้ารับการทดสอบ มีประสบการณ์การทำงานหรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับสาขาที่จะทดสอบ หรือผ่านการฝึกฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพ และมีประสบการณ์จากการฝึกหรือปฏิบัติงานในกิจการในสาขาที่เกี่ยวข้อง
หรือเป็นผู้ที่จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง
เมื่อผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 เรียบร้อยแล้ว จึงจะติดต่อขอหนังสือรับรองความรู้ ความสามารถ ซึ่งมีอายุ 3 ปีโดยจะต้องผ่านการประเมิน 3 ส่วน คือ 1.ความรู้ ความสามารถต้องผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2.ประสบการณ์การทำงาน ดูจากประวัติการทำงาน และ 3.คุณลักษณะเฉพาะ ทัศนคติในการทำงาน
กรีฑา ย้ำว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ กพร. ทั้งในส่วนกลาง...ภูมิภาคทั่วประเทศ มีความพร้อมในการรับเรื่องขอมีใบรับรองความรู้ ความสามารถ...ไลเซนส์อาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคารแล้ว
แต่...สาระสำคัญขึ้นอยู่กับศักยภาพของแรงงานเองว่ามีความพร้อมหรือไม่?
ปัจจุบันคาดว่ามีช่างไฟฟ้าภายในอาคารกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 จำเป็นต่อการต่อยอดมาถึงการขอรับสมุดไลเซนส์ประจำตัว
ชัยวัฒน์ ลิ้มพิทยา หรือ “ช่างจิ๋ว” ช่างไฟฟ้าปริญญา และเจ้าของบริษัทรับเหมาระบบไฟฟ้า เสริมว่า การส่งเสริมให้มีการทดสอบช่างไฟฟ้าเป็นนโยบายที่ดี ทุกวันนี้ช่างไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่รับจ้างทำงานตามหมู่บ้านคอนโดมิเนียมเป็นช่างไฟจากประเทศเพื่อนบ้านแทบทั้งสิ้น จำนวนไม่น้อยมีความรู้ด้านไฟฟ้าแบบผิวเผิน
แค่เดินสายไฟเป็น...ก็อ้างว่าเป็นช่างได้แล้ว
“จะมีเจ้าของบ้านสักกี่คนที่ว่าจ้างช่างไฟแล้วปีนขึ้นมาเปิดฝ้า...เปิดช่องเซอร์วิสตรวจดูว่า ช่างไฟฟ้าเดินสายไฟถูกต้องหรือไม่ พันกันยุ่งเหยิงอีนุงตุงนัง ไม่รู้เส้นไหนเป็นเส้นไหน หรือแอบมีการต่อสายไฟกลางทางหรือไม่ หรือต่อสายดินจริงๆหรือเปล่า การสอบใบอนุญาตจึงเป็นการรับประกันในระดับหนึ่งว่าช่างไฟที่สอบผ่านมีความรู้จริงๆ และทำให้ผู้จ้างอุ่นใจว่าจะมีความปลอดภัย เวลานอนหลับก็สามารถหลับได้สนิท”
ยิ่งวันนี้เราเปิดเออีซีแล้ว สายไฟก็ได้เปลี่ยนระบบใหม่ทั้งซิงเกิลเฟสและทรีเฟสให้เข้ากันได้ในอาเซียน สิ่งเหล่านี้ช่างไฟฟ้าทุกคนต้องเรียนรู้และตามให้ทัน ช่างไฟที่จบ ปวช. ปวส. ถ้าจะมาทำงานสายนี้ ก็ต้องมีใบรับรองเป็นใบเบิกทาง เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าสามารถทำงานด้านนี้ได้จริงๆ ปัจจุบันช่างไฟหายาก ยิ่งมีใบรับรองยิ่งมีความน่าเชื่อถือ แม้ว่าจะเสียเงินทดสอบบ้างก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มากมาย
ธนากร หลวงวิเศษ ช่างไฟฟ้าย่านตลาดบางบัวทอง หรือ “ช่างกร” บอกว่า ประกอบอาชีพอิสระ รับงานเดินสายไฟฟ้าและซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยอาศัยความรู้ ปวช. ที่ได้ร่ำเรียนมาและประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้กว่า 20 ปี ยอมรับว่ากฎหมายที่บังคับให้ช่างไฟฟ้าไปเข้ารับการอบรมและทดสอบฝีมือเป็นเรื่องดี
ทุกวันนี้...ช่างไฟฟ้าจริงๆหายาก มีแต่ช่างก่อสร้างที่ผันตัวเองมาเป็นช่างไฟ
“ระหว่างช่างไฟที่เรียนจบมา รู้เรื่องวงจร รู้เรื่องกำลังไฟ กับช่างก่อสร้างที่อาศัยทำบ่อยๆ หรือพูดเก่ง เจ้าของบ้านอยากได้แบบไหน” ช่างกร ว่า “บางครั้งเด็กจบ ปวช. ปวส. สาขาไฟฟ้า ก็ไม่ได้ลงมือทำงาน แต่ใช้ลูกน้องทำแทน แล้วจะบอกได้อย่างไรว่าคนที่จบมาทำงานได้ ดังนั้นการสอบจึงเป็นคำตอบที่ดี”
ปัญหามีเพียงว่า...การจะให้ช่างไฟฟ้าที่ทำงานอิสระไปเข้าทดสอบอาจไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะแต่ละคนมีงานทุกวัน ไม่ไปทำงานก็ขาดรายได้จุนเจือครอบครัว ถ้าเป็นไปได้อยากให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดทดสอบนอกสถานที่ เหมือนบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้านัดอบรมให้ช่างตามวัน เวลา สถานที่ที่สะดวก
กรีฑา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝากประชาสัมพันธ์ว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนนี้ ให้เตรียมความพร้อมเรื่องขอเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 ให้เรียบร้อย โดยติดต่อได้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคทั่วประเทศ หรือศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่ได้รับการอนุมัติจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ซึ่งตามปกติค่าธรรมเนียมการทดสอบจะเรียกเก็บที่อัตรา 100 บาท แต่กรมฯขอมอบของขวัญปีใหม่ทำการเรียกเก็บเพียง 10 บาทจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
ผ่านการทดสอบแล้วก็จะขอไลเซนส์ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม... กันยายน เนื่องจากกฎหมายบังคับใช้ในวันที่ 26 ตุลาคม 2559 จะได้ไม่เสียสิทธิ์ในเรื่องระยะเวลา ซึ่งใบรับรองจะมีอายุ 3 ปี หากมีข้อสงสัยติดต่อขอสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 0-2245-1707 ต่อ 601 หรือ 602 ได้ในวันและเวลาราชการ...
“ช่างไทย” ต้องยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล ติดอาวุธครบเครื่อง ทั้งภาคทฤษฎี การปฏิบัติ จรรยาบรรณเต็มเปี่ยม ลดการสูญเสียทั้งชีวิต...ทรัพย์สิน พร้อมรับมือกับการแข่งขันในยุคเออีซี.